6 ข้อควรรู้ ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน Tadsaneeya โดย Tadsaneeya
1. รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง
เทรนด์ Eco-Friendly หรือ เทรนด์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลายเป็นกระแสหลักของโลกที่สอดแทรกอยู่ในทุกวงการเลยก็ว่าได้ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการตลาดรถยนต์ ที่ตอนนี้รถยนต์พลังงานทางเลือกอย่าง "รถยนต์ไฟฟ้า EV" (Electric Vehicle) กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น มีรถยนต์ไฟฟ้าวางจำหน่ายในบ้านเราจำนวนไม่น้อย
รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกันคือ
*รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (Electric Vehicle)
*รถยนต์ไฟฟ้าแบบขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ (E-POWER TECHNOLOGY)
*รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด HYBRID ELECTRIC VEHICLE (HEV)
แต่ใน 3 ประเภทนี้มีแค่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) เท่านั้น ที่ใช้เพียงพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว 100% โดยไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ตอบโจทย์ในเรื่องการลดใช้น้ำมัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ซึ่งหลักการทำงานของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) ใช้เพียงแค่พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเท่านั้น เมื่อแบตเตอรี่หมดก็สามารถชาร์จไฟได้ ทำให้เป็นที่จับตามองของตลาดโลกเป็นอย่างมาก
2. รถยนต์ไฟฟ้ามีระบบตัดไฟเมื่อแบตเพียงพอ หมดกังวลหากชาร์จแบตทิ้งไว้
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญและมีราคาสูง ทำให้หลายคนมีความกังวลและส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ซึ่งแบตเตอรี่และมอเตอร์ในรถยนต์ไฟฟ้านั้น มีการออกแบบระบบให้ถูกใช้ซ้ำ ๆ แม้จะมีการชาร์จบ่อยครั้ง ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ แถมยังมีระบบที่ช่วยตัดไฟเมื่อระดับไฟฟ้าในแบตเตอรี่เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว แต่ทั้งนี้ แบตเตอรี่ก็สามารถเสื่อมสภาพตามการใช้งานได้
โดยทั่วไปมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-8 ปี ขึ้นอยู่กับ "ระยะเวลา" และ "ระยะทาง" เป็นตัวกำหนด เช่น "Nissan LEAF" มีการรับประกันอายุของ แบตเตอรี่เอาไว้ที่ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร ส่วนด้าน "MG ZS EV" มีการรับประกันอายุของแบตเตอรี่เอาไว้ที่ 8 ปี หรือ 180,000 กิโลเมตร ซึ่งอายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเทียบเท่ากับอายุการใช้งานของรถยนต์ทั่วไปเลยก็ว่าได้
3. รถยนต์ไฟฟ้าประหยัดค่าเชื้อเพลิงรถได้มากกว่า 3 เท่า
แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในระยะยาว รถยนต์ไฟฟ้านับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว เพราะค่าซ่อมบำรุง และค่าพลังงานไฟฟ้านั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง
โดยน้ำมันนั้นมีราคาผันผวนตามตลาดโลก ส่วนค่าไฟฟ้านั้นค่อนข้างคงที่ โดยจะเสียค่าไฟครั้งละ 90-150 บาท/การชาร์จหนึ่งครั้ง หรือประมาณ 0.60 - 1 บาท/กิโลเมตร เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 บาท/กิโลเมตร ทำให้สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงรถไปได้มากกว่า 2-3 เท่า
ในส่วนของเครื่องยนต์นั้น รถยนต์ธรรมดาแบบใช้น้ำมันจะมีความเสื่อมของเครื่องยนต์มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนประกอบน้อยกว่า และไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทำให้ไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์เหมือนรถยนต์ทั่วไป
แต่สิ่งที่ต้องระวังคือความเสียหายที่ตัวแบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 372,000 - 558,000 บาท/คัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแบตเตอรี่มีความทนทานและมีอายุการใช้งานสูง จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยง่าย
4. ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงการชาร์จไฟหลากรูปแบบ
ปัจจุบันการชาร์จไฟของรถยนต์มี 3 แบบ คือ Quick Charger การชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) โดยใช้ตู้ EV Charger (สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า) จ่ายไฟเข้าที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ใช้เวลาการชาร์จ 40-60 นาที ซึ่งเป็นวิธีการชาร์จไฟที่เร็วที่สุด ใช้ได้กับหัวชาร์จ CHAdeMo นิยมใช้ในแถบเอเชีย และหัวชาร์จ CCS นิยมใช้ในยุโรปและอเมริกา Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box เป็นการชาร์จด้วยไฟกระแสไฟฟ้าสลับ (AC Charging) ส่วนใหญ่จะเห็นกันในรูปแบบของตู้ชาร์จติดผนังตามห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ระยะเวลาในการชาร์จอาจมากถึง 4-9 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ และสเปครถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่น และ Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการชาร์จไฟที่บ้าน เพราะใช้เวลาชาร์จนานที่สุดเฉลี่ยที่ 12-15 ชั่วโมง โดยมิเตอร์ไฟของบ้านต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A และเต้ารับไฟในบ้านต้องได้รับการติดตั้งใหม่ ให้เป็นเต้ารับเฉพาะสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ควรติดตั้งระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็มหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายแห่งมีการนำตัวชาร์จนี้เข้ามาจำหน่ายและพร้อมให้บริการติดตั้งตามบ้านแล้ว
5. มีรถยนต์ไฟฟ้าหลากแบรนด์ดัง หลายสัญชาติให้เลือกใช้
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเริ่มคึกคักอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายแบรนด์ต่างเข้ามาตีตลาดทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น การตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนเป็นหลัก
เช่น FOMM One รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น ขนาด 4 ที่นั่ง แบตเตอรี่ความจุ 11.8 kWh วิ่งได้ไกล 160 กม./ชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง เต็ม 1 ครั้ง สำหรับหัวชาร์จจะมีเฉพาะแค่ AC Type2 MG ZS EV รถอเนกประสงค์พลังงานไฟฟ้า ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า PMSM 150 แรงม้า แรงบิด 350 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ความจุ 44.5 kWh วิ่งได้ไกลถึง 337 กม./ชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง
สําหรับหัวชาร์จสามารถรองรับ AC Type2 และ CCS2 Hyundai IONIQ EV รถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง โดยสูงสุดถึง 204 แรงม้า แรงบิด 395 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ ความจุ 28 kWh วิ่งได้ไกลถึง 280 กม./ชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง สำหรับหัวชาร์จสามารถรองรับ AC Type2 และ CCS2 ฯลฯ
6. เวลาเดินทางไกลโดยใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องแม่นเรื่องวางแผน
ในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมเท่าในต่างประเทศ เนื่องจากทัศนคติของคนทั่วไปยังมีความกังวลและไม่เข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง อีกทั้งอาจเป็นเพราะราคาที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับสมรรถนะและความสะดวกสบายที่ได้รับ
อีกทั้งการชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้งจะสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300-400 กม. เท่านั้น จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในเมือง แต่ผู้ที่ต้องเดินทางระยะไกลนั้นอาจต้องวางแผนให้ดี เพราะสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถรองรับการใช้งานอย่างทั่วถึง ความพร้อมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจึงเรียกได้ว่ายังอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น
นอกจากนี้ การสนับสนุนหรือการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นยังมีน้อยมาก ทำให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อมองไม่เห็นประโยชน์ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่มีมาตรการส่งเสริมและให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน เช่น การยกเว้นภาษี มีเลนพิเศษ ไม่เสียค่าที่จอดรถ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ในอนาคตกระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมาแน่นอน ไม่ใช่แค่ต่างประเทศ แต่ประเทศไทยเองก็จะถูกกดดันให้ต้องเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตามเครดิตแหล่งข้อมูล :autospinn