กู้รถจากน้ำท่วม ต้องซ่อมแซมจุดไหน อย่างไรบ้าง
ปัญหาหนักอกหนักใจช่วงนี้ หนีไม่พ้นเรื่องฝน และน้ำท่วม คนที่ใช้รถยนต์อยู่ตอนนี้ ก็นั่งร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กันว่า ถ้าน้ำมา จะเอารถรถหนีน้ำท่วมได้มั้ย จะทันหรือไม่ทัน ถ้ารถต้องโดนน้ำท่วม จมบาดาลจริงๆ จะต้องซ่อมอะไรบ้าง
จริงๆ แล้วรถที่โดนน้ำท่วม วิธีการซ่อมไม่ได้เป็นแบบแน่นอนตายตัวแต่ละคัน แต่ละยี่ห้อ ซึ่งพอจะสรุปรวมๆ ให้พอเข้าใจ โดยไล่เรียงตามขั้นตอนก่อน โดยลำดับแรกต้องแยกรถ โดยแบ่งเป็น รถที่โดนน้ำท่วมน้อย ไม่หนักมาก และรถที่โดนน้ำท่วมหนัก จมน้ำมา เพื่อจะได้แยกขั้นตอนในการกู้รถได้
การกู้รถที่โดนน้ำท่วมไม่หนัก
หรือเรียกว่า โดนน้ำท่วมน้อย จะวัดจากน้ำที่ท่วมถึงขอบชายล่างประตู แต่ไม่ถึงเบาะ รวมถึง รถที่วิ่งใช้งานขณะน้ำท่วม รถประเภทนี้ จะโดนน้ำเข้าถึงบริเวณพรมที่เท้าแต่ไม่เกินเบาะ และแผงข้างประตู หรืออาจโดนน้ำบ้างเล็กน้อย รถประเภทนี้ เรียกว่า โชคดีก็ว่าได้ ที่รายการซ่อมอาจไม่ได้เยอะมาก หลังจากที่มวลน้ำได้ผ่านไป น้ำลดแล้วควรทำดังนี้
ภายนอก
สีและตัวถังควรมีการตรวจสอบอย่างละเอียดจากช่างสีและตัวถัง ว่ามีสนิมขึ้นจุดไหนบ้างเพื่อทำการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นในส่วนสีรถ หรือใต้ท้อง อย่าคิดว่าพ่นกันสนิมแล้วจะรอดหรือกันได้เสมอไป บางครั้งอาจโดนหินหรือวัสดุอื่นกระเด็นใส่ขูดขีดจนเป็นแผลเปิดเล็กๆ เป็นจุดเริ่มของสนิมจนอาจลุกลามได้ การแก้ไขอาจมีทั้งขัดสนิมออก พ่นสีรองพื้นและน้ำยากันสนิมใหม่หรือพ่นซ่อมสี
ภายใน
เกี่ยวเนื่องกับภายนอกจากย่อหน้าที่แล้ว พรมและวัสดุตกแต่งภายใน ที่อาจกักเก็บน้ำและความชื้นไว้ ต้องทำการตรวจสอบทั้งหมด ในกรณีที่พบว่าเปียกชื้น ต้องทำการรื้อชิ้นส่วนนั้นๆ มาทำความสะอาดและ จัดการให้แห้ง ไม่ว่าจะเป็นแผงข้างประตู พรมปูพื้นรถ ผ้ายาง ฯลฯ
ช่วงล่าง
ส่วนมากช่วงล่างที่เป็นโช๊คอัพสปริง จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับน้ำท่วม ส่วนที่ต้องตรวจสอบคือ ระบบบังคับเลี้ยว หรือแร็คพาวเวอร์ในรถยนต์นั่งทั่วไป อาจมีน้ำเข้าไปตามยางกันฝุ่นที่ชำรุดเสียหาย ควรทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันพาวเวอร์ ในส่วนของรถเพื่อการพานิชย์ (กระบะ) ถึงจะไม่มีแร็คพาวเวอร์แต่กระปุกพวงมาลัย ก็อาจมีน้ำเข้าได้เช่นกัน ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันพวงมาลัยไปเลยเช่นเดียวกัน เพลาขับก็เป็นชิ้นส่วนที่ต้องตรวจสอบสภาพจารบี ควรล้างและเปลี่ยนจารบีใหม่
ระบบส่งกำลังหรือเกียร์
รถที่เป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือรถยนต์นั่งทั่วไป ควรทำการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ แล้วแต่ระบบเกียร์เป็นแบบไหน ในรถที่เป็นเกียร์ธรรมดา เป็นน้ำมันคลัทช์ รวมไปถึงปั๊มคลัทช์ตัวล่างที่แช่น้ำมาตลอดก็ควรล้างเปลี่ยนลูกยางชุดซ่อมหรือยกลูกใหม่ เพลาขับหน้าที่ต้องตรวจสอบ น้ำมันเฟืองท้ายลูกหน้า ที่ต้องเปลี่ยน (ที่เพิ่มมาในรถขับเคลื่อนสี่ล้อ) อัดจารบีเพลากลางใหม่ เปลี่ยนน้ำมันเฟืองท้ายลูกหลัง และอย่าลืม ลูกปืนล้อทั้งสี่ล้อด้วย
ระบบเบรก
ตรวจสอบสภาพผ้าเบรกไปเลยทีเดียวจะเป็นการดี เพราะบางครั้งผ้าเบรกบางแบบลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ อาจทำให้เสียคุณสมบัติได้ น้ำมันเบรกก็เป็นส่วนที่ต้องเปลี่ยน อาจเป็นสาเหตุให้เบรกไม่อยู่ได้
ระบบไฟ
เช่นไฟหน้ารถ ไฟท้าย มีน้ำเข้าหรือไม่ ถ้ามีต้องเอาออก และทำการเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ควรเปลี่ยนหลอดที่มีกำลังไฟหรือวัตต์ แตกต่างจากของเดิม เพราะอาจทำให้ฟิวส์ขาดได้ ส่วนถ้าเป็นแบบไดโอดเรืองแสงหรือ LED คงต้องเปลี่ยนทั้งโคม อย่าลืมตรวจสอบ ขั้วปลั๊กต่างๆให้ดี ทั้งเซนเซอร์ที่อยู่ด้านล่างและทุกที่ที่น้ำไปถึง ให้เปิดและฉีดเสปรย์ไล่ความชื้นทุกข้อต่อ
เครื่องยนต์
สำหรับรถที่น้ำท่วมไม่ถึงเครื่องยนต์ แต่สิ่งที่ควรทำก็คือการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรอง นอกจากนี้ ชิ้นส่วนที่ต้องสัมผัสน้ำ และรับความชื้น เช่น มอเตอร์สตาร์ท ไดชาร์จ คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ ต้องตรวสอบสภาพภายนอก
การกู้รถที่โดนน้ำท่วมหนัก
น้ำท่วมมากกว่าระดับพื้นรถ จนถึงท่วมมิดหลังคา และรวมไปถึงรถที่ลุยน้ำท่วมดับ รถประเภทนี้ควรทำใจล่วงหน้าไว้เลยว่า งานนี้อาจมีทางเลือกสองทางคือ ซ่อมหรือขาย เพราะถ้ามูลค่าตัวรถน้อยกว่าค่าซ่อมเมื่อไร การขายตามสถาพอาจเป็นทางออกที่คุ้มค่ากว่า พิเศษสำหรับรถ Hybrid ทุกยี่ห้อ ไม่ควรให้อู่นอกซ่อม รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า ติดต่อศูนย์บริการดีที่สุด
สำหรับรถทั่วไป ขั้นตอนแรกก่อนการกู้รถประเภทนี้คือ ห้ามติดเครื่องเองเป็นอันขาด ถ้าไม่มีความรู้เพียงพอเพราะอาจเกิดความเสียหายภายในเครื่องยนต์ได้ ขั้นตอนต่อมาคือ สำรวจว่าได้ถอดขั้วแบตเตอรี่ออกแล้วหรือไม่ เพราะไฟฟ้าอาจลัดวงจรทำให้กล่องควบคุม หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ชำรุดเสียหายได้
ขั้นตอนต่อมา สำรวจระบบขับเคลื่อนว่า ขับเคลื่อนล้อหน้าหรือล้อหลัง ระบบส่งกำลังเป็นแบบเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์อัตโนมัติ? เพราะการลากรถเกียร์อัตโนมัติ โดยให้ล้อขับเคลื่อนแตะพื้น จะทำให้ระบบเกียร์พังได้ ควรใช้รถยกช้อนล้อ หรือรถสไลด์จะปลอดภัยกว่าการลาก หรือถ้าเป็นรถเกียร์ธรรมดา การลากถ้าเป็นไปได้ควรใช้อุปกรณ์ลากรถที่มีลักษณะเป็นท่อแป๊บ จะปลอดภัยกว่าแบบสลิง
จำไว้เสมอว่า เบรกที่แช่น้ำมาเป็นเวลานาน จะมีอาการเบรกไม่อยู่ ดังนั้นขอให้การลากเป็นทางเลือกสุดท้ายที่กระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
หลังจากเคลื่อนย้ายรถถึงอู่ ก็จะทำขั้นตอนคล้ายกับรถที่น้ำท่วมมาไม่มากแต่เพิ่มรายละเอียดลงไป ดังนี้
ภายนอก
ยังคงทำเหมือนกัน แต่เพิ่มรายละเอียดตามระดับของน้ำที่ท่วม ส่วนสี จะต้องมีการขัดใหม่ เป็นอย่างน้อยเนื่องจากน้ำที่แช่มานาน อาจทำให้สีรถด่างได้ ถ้าลองขัดแล้วไม่หาย คงจะต้องอาบน้ำ ภาษารถเต็นท์ว่ากันอย่างนั้น คือ ทำสีใหม่ทั้งคัน อาบสักรอบสีก็จะดูดีขึ้น สิ่งที่ควรเพิ่มเติมสำหรับรถที่มีขอบกระจกเป็นยาง ตรวจสอบทุกบาน เพื่อตรวจดูว่ามีน้ำขังด้านในจนอาจเป็นสาเหตุของสนิมได้เช่นกัน
ภายใน
เรียกว่า งานช้างมาก รื้อทุกชิ้น ตั้งแต่พรมไปจนถึงผ้าบุหลังคา รวมไปถึงแผงข้างประตู แนะนำว่าถ้าท่วมนาน และสามารถหาเปลี่ยนได้เปลี่ยนให้หมดเลย เพราะฟองน้ำที่ใช้ฉีดขึ้นรูปเป็นแผงข้างประตู กรอบกระจก ฉนวนใต้หลังคา รวมทั้งเบาะที่อมน้ำเปลี่ยนได้เลย หากเปิดแอร์จะสะสมความชื้นไว้ภายในปอดเราอาจเป็นเชื้อราได้ ส่วนอื่นๆ เช่นแผงหน้าปัทม์จะต้องจัดการไล่ความชื้น ล้างแผ่นวงจรควบคุม ส่วนรถที่มีระบบควบคุมไม่ว่าจะเป็นกระจกไฟฟ้า หรือเบาะปรับไฟฟ้า มอเตอร์ คือจุดอ่อนต้องรื้ออกมาทำความสะอาดทั้งหมด รางเบาะ ขาเบาะที่เป็นจารบีให้เลื่อนได้อย่างสะดวกก็ต้องล้างและเปลี่ยนจารบี
กล่องควบคุมหรือกล่องสมอง ที่เรียกกันว่ากล่อง ECU บ้าง ECM บ้าง ก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้เสปรย์ล้างหน้าคอนแทค ล้างแผ่นวงจร ใช้ลมเป่าไล่ให้แห้ง เช่นเดียวกัน กล่องฟิวส์ และสายไฟที่มีขั้วต่อต่างๆ ก็ต้องทำเหมือนกันหมดทุกชิ้นก่อนที่จะเสียบแบตเตอรี่ต้องมั่นใจว่าไม่มีข้อต่อตัวไหนเป็นสาเหตุของไฟช๊อตได้
ระบบปรับอากาศ
ก็เป็นส่วนที่ต้องทำอย่างจริงจัง การถอดตู้คอยล์เย็นออกมาล้างเป็นสิ่งที่ต้องทำ การตรวจสอบช่องทางท่อลม สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้รถ
ช่วงล่าง
วิธีเหมือนกับรถที่ท่วมน้อย แต่เน้นว่าเปลี่ยนได้เปลี่ยนให้หมด และของเหลวทั้งหมดก็ต้องถูกเปลี่ยนรวมไปถึงจารบีในส่วนต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ระบบส่งกำลัง
ทำก็เช่นเดียวกันกับข้อแรก คือรถที่เป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือรถยนต์นั่งทั่วไป ควรทำการเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ น้ำมันเกียร์ออโต้ แล้วแต่ระบบเกียร์เป็นแบบไหน ในรถที่เป็นเกียร์ธรรมดา น้ำมันคลัทช์ต้องเปลี่ยน รวมไปถึงปั๊มครัชท์ตัวล่างที่แช่น้ำมาตลอดก็ควรล้างเปลี่ยนลูกยางชุดซ่อมหรือยกลูกใหม่ เพลาขับหน้าที่ต้องตรวจสอบ น้ำมันเฟืองท้ายลูกหน้าที่ต้องเปลี่ยน (ที่เพิ่มมาในรถขับเคลื่อนสี่ล้อ) อัดจารบีเพลากลางใหม่ เปลี่ยนน้ำมันเฟืองท้ายลูกหลัง และอย่าลืม ลูกปืนล้อทั้งสี่ล้อ
ระบบเบรก ทำวิธีการเดียวกับน้ำท่วมน้อย ตรวจสอบสภาพผ้าเบรกไปเลยทีเดียวจะเป็นการดี เพราะบางครั้งผ้าเบรกบางแบบการลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ อาจทำให้เสียคุณสมบัติได้ น้ำมันเบรกก็เป็นส่วนที่ต้องเปลี่ยน อาจเป็นสาเหตุให้เบรกไม่อยู่ได้ระบบไฟ
ก็ทำเช่นเดียวกับข้อแรกน้ำท่วมน้อย เช่นไฟหน้ารถ ไฟท้าย มีน้ำเข้าหรือไม่ ถ้ามีต้องเอาออก และทำการเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ควรเปลี่ยนหลอดที่มีกำลังไฟหรือวัตต์ แตกต่างจากของเดิมมาก เพราะอาจทำให้ฟิวส์ขาดได้ ส่วนถ้าเป็นแบบไดโอดเรืองแสงหรือ LED คงต้องเปลี่ยนทั้งโคมหรือแล้วแต่ผู้ผลิต อย่าลืมตรวจสอบ ขั้วปลั๊กต่างๆให้ดี ทั้งเซนเซอร์ที่อยู่ด้านล่างและทุกที่ที่น้ำไปถึง ให้เปิดและฉีดเสปรย์ไล่ความชื้นทุกข้อต่อ
เครื่องยนต์
ชิ้นส่วนนี้สำหรับรถที่จมน้ำเป็นเวลานาน ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ว่ากันตั้งแต่ ของเหลวทั้งหมดที่อยู่ในห้องเครื่องยนต์รวมถึงน้ำยาหล่อเย็นจะต้องถูกถ่ายทิ้งทั้งหมด น้ำมันเครื่อง น้ำมันคลัทช์ (ถ้ามี) น้ำมันเกียร์ ทั้งเกียร์ธรรมดา เกียร์ออโต้ น้ำมันเบรค ฯลฯ ทุกอย่างต้องถูกถ่ายทิ้ง ที่สำคัญที่สุด น้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในถัง อาจมีน้ำปนอยู่ ทางที่ดีถ่ายออกมาเอาไว้ล้างชิ้นส่วนอะไหล่จะดีกว่า
สำหรับรถที่ลุยน้ำแล้วเครื่องดับ ก็จะมีสองกรณีคืออย่างเบาก็แค่น้ำเข้าท่อไอเสียดับ กรณีนี้แค่ถอดท่อไอเสียออก แล้วหาทางเอาน้ำออกให้หมดก็จบ กรณีอย่างหนักคือก้านสูบคด วิธีนี้ตรวจสอบง่ายๆ ลองหมุนเครื่องด้วยมือเปล่าโดยใช้ประแจถ้าหมุนได้ด้วยแรงคนปกติก็น่าจะไม่ต้องรื้อ แต่ถ้าหมุนไม่ไปให้สันนิษฐานได้เลยว่าเปิดเครื่องดูจะดีกว่า
ทั้งหมดนี่คือแนวทางคร่าวๆ เท่านั้นในการกู้รถน้ำท่วม เพราะการกู้รถน้ำท่วม ไม่ใช่งานซ่อมธรรมดา เรียกว่างานช้างเลยทีเดียว ควรใช้ช่างหรือผู้ชำนาญการเป็นผู้ดูแล เพียงแต่ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าและราคารถที่เหลืออยู่ จะเป็นตัวกำหนดว่าควรซ่อมต่อหรือพอแค่นี้หรือไม่ ยกเว้นรถที่มีคุณค่าทางใจหรือรถสะสมแบบนั้น ยังไงก็สมควรทำ ส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวมาก็ทำเหมือนกับรถน้ำท่วมน้อยทุกประการ