“ไซเบอร์ทรัค” กระบะแห่งอนาคต?
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ คอนเซ็ปต์คาร์ ทั้งหลายที่เปิดตัวกันนั้น ก็ไม่มีใคร "เปิดจอง" กันจริงๆ จังๆ เหมือนกับที่ อีลอน มัสก์ เปิดรับจองไซเบอร์ทรัคเหมือนกัน
ไซเบอร์ทรัค แยกออกเป็น 3 รุ่น สมรรถนะแตกต่างกันออกไป กล่าวคือรุ่นพื้นฐาน เป็นแบบขับหลังจ่ายพลังจากมอเตอร์เพียงตัวเดียว ตั้งราคาไว้ที่ 39,900 ดอลลาร์ หรือราว 1.2 ล้านบาท รุ่นถัดมาเป็นรุ่น ดูอัล มอเตอร์ ใช้มอเตอร์คู่ขับเคลื่อนทั้งหน้าและหลัง ราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 49,900 ดอลลาร์ ส่วนรุ่นท็อป เป็นรุ่นขับเคลื่อนอิสระสี่ล้อ ซึ่งอยู่ที่ 69,900 ดอลลาร์ หรือราว 2.2 ล้านบาทโดยประมาณ
มัสก์อ้างว่า ไซเบอร์ทรัค สามารถทำความเร็วจาก 0-60 ไมล์ต่อชั่วโมง (0-96.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ได้ภายใน 2.9-6.5 วินาที ขึ้นอยู่กับรุ่นและใช้งานได้ระยะทางสูงสุดต่อการชาร์จประจุเต็มที่ 1 ครั้งอยู่ที่ประมาณ 400-800 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับรุ่นเช่นเดียวกัน เทสลาอ้างว่า ไซเบอร์ทรัคสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 130 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความสามารถในการฉุดลากถึง 14,000 ปอนด์ (ราว 6,350 กิโลกรัม)
ตัวถังรถไซเบอร์ทรัค ทำจากสตีลอัลลอย (หรือสเตนเลสสตีลนั่นเอง) ปลอดสนิมกับไทเทเนียมในบางชิ้นส่วน เน้นรูปทรงเป็นเหลี่ยมมุมในทุกสัดส่วน โยนทิ้งรูปทรงตัว D คว่ำหรือ "D เชป" ที่นักออกแบบรถยนต์ทุกคนยึดถือเป็นโครงหลักในการออกแบบรถยนต์ร่วมสมัยทิ้งไปอย่างไม่ไยดี ด้านหน้าและหลังคาของไซเบอร์ทรัคจึงลาดขึ้นไปจนจรดยอดสามเหลี่ยมแล้วลาดลงเล็กน้อย จากนั้นปาดลงเพื่อทำเป็นห้องโดยสาร แต่ยังคงปีกสามเหลี่ยมสองข้างไว้จนถึงด้านท้ายที่เอียงสูงขึ้นเล็กน้อยแล้วตัดลงเป็นเหลี่ยมอีกเช่นกัน เว้นที่ว่างระหว่างปีกไว้เป็นช่องบรรทุก หรือกระบะท้ายนั่นเองด้านหน้าไม่มีไฟหน้าเป็นโคมเหมือนกับรถที่เราคุ้นเคยกัน แต่ใช้เป็นแถบยาวคาดตลอดความกว้าง ปาดตรงมุมสองด้านเป็นเหลี่ยมเล็กๆ แทนไฟหน้า มีแถบไฟที่เล็กกว่าค่อนลงมาด้านล่างเป็นแถบแสดงไฟเลี้ยวและอื่นๆ ด้านหลังก็เช่นกัน
ไฟท้ายเป็นแถบยาวตลอดความกว้างกระบะ ด้านบนเป็นไฟท้ายและไฟเบรก ส่วนด้านล่างเป็นแถบขนาดเล็กมีไฟเลี้ยวติดตั้งอยู่สองด้าน
ราฟาเอล แซมมิท อาจารย์สอนวิชาออกแบบรถยนต์ของวิทยาลัยครีเอทีฟ สตัดดีส์ ในเมืองดีทรอยท์ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐอเมริกาที่มีประสบการณ์ด้านออกแบบรถยนต์มา 25 ปี บอกว่า ไซเบอร์ทรัคมีทุกอย่างที่บรรดาอาจารย์สอนออกแบบรถยนต์ห้ามไม่ให้ลูกศิษย์กระทำจนครบถ้วน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตข้อบกพร่องเรื่องการออกแบบไว้ว่า ด้านบนของรถดูจะบอบบางมาก ในขณะที่ตัวโครงสร้างรถไม่มีส่วนสำหรับการยุบตัวเมื่อชนแบบประสานงา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อไม่ให้เมื่อเกิดชนกันจะได้ไม่ถึงตัวผู้โดยสารโดยตรง ซึ่งอาจทำให้ไซเบอร์ทรัคมีปัญหาในการใช้งานจริงได้
ที่สำคัญก็คือ เทสลา อ้างว่ากระจกของรถคันนี้เหมือนกระจกรถหุ้มเกราะสามารถกันแรงกระสุนขนาด 9 มม.ได้ อีลอน มัสก์ เลยท้าพิสูจน์บนเวที
ผลปรากฏว่าไม่เพียงกระจกแตกไปพร้อมๆ กับหน้าของอีลอน มัสก์ แถมยังกลายเป็นมีมส์ล้อกันว่อนเน็ตเท่านั้น
ยังทำให้หุ้นในตลาดของเทสลา ร่วงลงถึง 6 เปอร์เซ็นต์ เงินหายไปเห็นๆ วันเดียว 768 ล้านดอลลาร์เหนาะๆ อีกต่างหาก