ไขข้อข้องใจ ขับรถชนเสาไฟฟ้า ควรทำอย่างไรดี?


ไขข้อข้องใจ ขับรถชนเสาไฟฟ้า ควรทำอย่างไรดี?


วันดีคืนดี จู่ ๆ ดวงซวยขับรถชนเสาไฟฟ้าซะงั้น ทำไงละทีนี้!? ต้องจ่ายค่าปรับกับใคร? ไกล่เกลี่ยได้ไหม? แล้วประกันชั้นไหนคุ้มครองบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้คุณแล้ว!

เกิดขึ้นให้เห็นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน แบบทั้งมีคู่กรณีให้ไกล่เกลี่ย และไร้คู่กรณี อาทิ ขับรถชนหมา, เสยขอบฟุตปาธ, ตกเขา หรือชนเสาไฟฟ้า ซึ่งกรณีสุดท้ายอาจเกิดคำถามตามมาว่า หากขับรถชนเสาไฟฟ้าต้องจ่ายค่าปรับกับใคร? ที่ไหน? หรือเท่าไหร่? อ่านทางนี้สิ Chobrod มีคำตอบมาไขความกระจ่างให้คุณแล้ว!




ขับรถชนเสาไฟฟ้า ต้องจ่ายเงินให้ใคร?

กรณีที่ขับรถไปชนเสาไฟฟ้าจนหักโค่นลงมาทั้งต้น ผู้ขับขี่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง (เฉพาะ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, สมุทรปราการ) เพราะเสาไฟฟ้า ถือเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานดังกล่าว

 

สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย เบื้องต้น ผู้ขับขี่ต้องชำระค่าเสาไฟฟ้า (คิดราคาตามขนาด ประเภท และพื้นที่ในการติดตั้ง) ค่ารื้อถอน, ค่าขนส่งตามระยาง และค่าแรงงานที่จะมาทำการติดตั้งเสาไฟฟ้าต้นใหม่ ส่วนจำนวนเงินที่ต้องจ่ายแล้วแต่กรณี ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียว


ไขข้อข้องใจ ขับรถชนเสาไฟฟ้า ควรทำอย่างไรดี?


ถ้าไม่มีเงินจ่าย จะเกิดอะไรขึ้น?

หากไม่มีเงิดชดใช้ค่าเสียหายแบบเต็มจำนวน สามารถเข้าไปต่อรองขอผ่อนชำระหนี้ หรือขอลดหนี้สินที่แผนกไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้ของทางการไฟฟ้าฯ ได้ ซึ่งอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย แต่ห้ามหนี หรือไม่ให้ความร่วมมือในการชดใช้ค่าเสียหายเด็ดขาด เพราะคุณจะตกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง และต้องชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ศาลกำหนด ดังมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ระบุเอาไว้ว่า

มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดจะไม่สามารถต่อรองขอลดหนี้ได้อีก อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะชำระค่าปรับแล้วจบเรื่องได้เลย ถ้าคุณเมาแล้วขับ, ฝ่าไฟแดง หรือขับรถด้วยความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด จนเกิดอุบัติเหตุ จะถูกแจ้งข้อหาเพิ่มแน่นอน


ไขข้อข้องใจ ขับรถชนเสาไฟฟ้า ควรทำอย่างไรดี?


ขับรถชนของหลวง ประกันชั้นไหนจ่ายให้?

ในกรณีที่คุณเคลมประกันไว้ รถของคุณต้องมีประกันชั้น 1 ไว้เท่านั้น บริษัทจึงจะชดใช้ค่าเสียหายทั้งในส่วนของรถยนต์ และทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย ส่วนประกันชั้น 2+, 2 หรือ 3+, 3 หมดสิทธิ์ ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุมกรณีขับรถชนของหลวงนั่นเอง

เห็นค่าเสียหาย และความยุ่งยากที่จะเกิดตามมาแล้ว ถือว่าน่าหนักใจมากเลยทีเดียว เช่นนั้นแล้ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งบุคคลและทรัพย์สิน ผู้ขับขี่จึงควรระมัดระวังในการขับรถให้ดี ด้วยความปรารถนาดีจาก Chobrod


ไขข้อข้องใจ ขับรถชนเสาไฟฟ้า ควรทำอย่างไรดี?


เครดิตแหล่งข้อมูล : chobrod


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์